“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 เห็นชอบมาตรการทางภาษีกระตุ้นการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ในเมืองรองช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) เพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดสัมมนาในเมืองรอง ในช่วงที่เข้าสู่ช่วง LOW Season ของประเทศไทย โดยเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในส่วนของประชาชนและบริษัทที่เป็นนิติบุคคล”
ทั้งนี้คาดว่ามาตรการนี้จะสูญเสียรายได้ตามที่กระทรวงการคลังประเมิน 1,500 ล้านบาท แต่คาดว่ามูลค่าที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจจะได้มากกว่า 1,500 ล้านบาทอย่างแน่นอน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ครม.มีมติอนุมัติมาตรการทางภาษี เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวในเมืองรองช่วง Low Season ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 2 มาตรการ ประกอบด้วย...
1. มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ สำหรับนิติบุคคล
ให้สามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 30 พ.ย. 2567
โดยสามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้
- หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
- หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1
- ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
2. มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง สำหรับบุคคลธรรมดา
ให้สามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พ.ค. ถึง 30 พ.ย. 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)
*** โดยทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ***
รายชื่อจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่เข้าร่วมมาตรการลดหย่อนภาษี
รายชื่อจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง จะมีทั้งหมด 55 จังหวัด ที่สามารถลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 2567 มีดังนี้
เมืองรองภาคเหนือ 16 จังหวัด
- เชียงราย
- พิษณุโลก
- ตาก
- เพชรบูรณ์
- นครสวรรค์
- สุโขทัย
- ลำพูน
- อุตรดิตถ์
- ลำปาง
- แม่ฮ่องสอน
- พิจิตร
- แพร่
- น่าน
- กำแพงเพชร
- อุทัยธานี
- พะเยา
เมืองรองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด
- อุดรธานี
- อุบลราชธานี
- หนองคาย
- เลย
- มุกดาหาร
- บุรีรัมย์
- ชัยภูมิ
- ศรีสะเกษ
- สุรินทร์
- สกลนคร
- นครพนม
- ร้อยเอ็ด
- มหาสารคาม
- บึงกาฬ
- กาฬสินธุ์
- ยโสธร
- หนองบัวลำภู
- อำนาจเจริญ
เมืองรองภาคกลาง - ตะวันออก - ตะวันตก 12 จังหวัด
- ลพบุรี
- สุพรรณบุรี
- นครนายก
- สระแก้ว
- ตราด
- จันทบุรี
- ราชบุรี
- สมุทรสงคราม
- ปราจีนบุรี
- ชัยนาท
- อ่างทอง
- สิงห์บุรี
เมืองรองภาคใต้ 9 จังหวัด
- นครศรีธรรมราช
- พัทลุง
- ตรัง
- สตูล
- ชุมพร
- ระนอง
- นราธิวาส
- ยะลา
- ปัตตานี
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มติ ครม. 4 มิ.ย. 67